ถวายพระไตรปิฎกสัชฌายะ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

ที่มา: เฟสบุคสำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช

เช้าวันอาทิตย์ ที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๑ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จลงพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ประทานพระวโรกาสให้ผู้แทนมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล เฝ้าถวายพระไตรปิฎกสัชฌายะ ฉบับสากลเพื่อการอ่านออกเสียง และพระไตรปิฎกดังกล่าวในรูปแบบบรรจุในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อประทานแก่ผู้แทนวัด สถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่างๆ

โอกาสนี้ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระสัมโมทนียกถา ความตอนหนึ่งว่า

“สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสรรเสริญ ‘ธรรมทาน’ ว่าชนะการให้ทั้งปวง เหตุที่การให้ธรรมะเป็นการให้ที่สูงส่งกว่าสิ่งอื่น ด้วยเหตุที่ว่าอามิสทาน คือการให้วัตถุสิ่งของ อาจช่วยเพียงให้มีชีวิตอยู่รอดได้ ทำให้อยู่ดีมีสุขขึ้นได้บ้าง แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้เกิดความดับทุกข์ได้

การรอดชีวิตอยู่แล้ว แต่กลับยังคงมีความทุกข์ด้วยตลอดเวลา ย่อมไม่อาจเทียบได้กับคุณค่าของการมีชีวิตอยู่แล้วได้เรียนรู้ธรรมะ จนทำให้เกิดความคิดชอบ การพูดชอบ และการกระทำชอบ อันจักทำให้ไม่มีความทุกข์ รู้จักป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์อีก และรู้จักหยุดความทุกข์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ให้ดับไป ธรรมทานนี้จึงมีอานิสงส์สูงยิ่งกว่าทานอื่นๆ

ท่านทั้งหลายล้วนมีกุศลเจตนาในการสั่งสม ‘ทานบารมี’ นับว่าน่าอนุโมทนาสรรเสริญยิ่งในระดับหนึ่งแล้ว โอกาสนี้ อาตมภาพขอเชิญชวนให้บำเพ็ญกุศลที่สูงยิ่งๆ ขึ้นไปด้วยการสั่งสม ‘ปัญญาบารมี’

คือเมื่อสร้างพระไตรปิฎกแล้ว ขอให้ทุกท่านมีความเอาใจใส่และมีความเพียรในการศึกษาพระไตรปิฎกกันอย่างจริงจังด้วย พร้อมแสวงหากุศโลบายชักพาให้ผู้คนทั้งหลาย หันมาสนใจศึกษาเรียนรู้ธรรมะ โดยถูกต้องตามความในพระไตรปิฎก ให้กว้างขวางขึ้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดการหลงเชื่อบุคคล หรือสำนักอาจารย์ ที่สอนนอกแบบ หรือคลาดเคลื่อนไปจากหลักการที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน อันนับเป็นการบั่นทอนอายุของพระพุทธศาสนาโดยตรง

บุญกิริยาวัตถุตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนนั้นสรุปรวมได้ ๓ ประการ คือ ทาน ศีล และภาวนา บัดนี้ท่านได้บำเพ็ญทานแล้ว ขั้นต่อไปขอให้ศึกษาเรื่องศีล เรื่องจิต และเรื่องปัญญา ให้ถูกต้องถ่องแท้ เพื่อจะได้เป็นผู้มั่นคงในการรักษาศีล และพากเพียรในการอบรมเจริญปัญญาให้ยิ่งๆ ขึ้น

ขอเชิญชวนให้ชาวพุทธ ปฏิบัติหน้าที่ของความเป็นชาวพุทธแท้ ด้วยการเข้ามาพิสูจน์ความจริง ให้เห็นประจักษ์ว่า เนื้อความในพระไตรปิฎกที่ท่านได้สร้าง และได้รับไปนี้ล้วนเป็นสัจธรรม ครั้นเมื่อท่านได้พิสูจน์ จนมีความหนักแน่นมั่นคงในธรรมะแล้ว ท่านย่อมก้าวไปบนหนทางที่ถูกต้อง นำสู่ความหลุดพ้นจากห้วงทุกข์ได้อย่างถาวร”